กำเนิดมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

            เมื่อปี พ.ศ. 1638 ประมาณ 900 ปีเศษล่วงมาแล้ว ในแผ่นดินจีนสมัยราชวงศ์ ซ้อง มีปัญญาชนตระกูลลิ้มคนหนึ่งสอบได้ระดับ “จินสือ” ได้ รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอเชียวเฮง มณฑลจิกกัง แต่รับราชการไม่นานก็สละตำแหน่งออกมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ในบวรพระพุทธ ศาสนามีฉายานามว่า ไต้ฮงโจวซือ หรือ ไต้ฮงกง แปลเป็นไทยว่า หลวงปู่ไต้ฮง จนกระทั่งทุกวันนี้

            ไต้ฮงภิกขุได้จาริกจากมณฑลฮกเกี้ยนไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดเมี่ยนอันแคว้นแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ทรุดโทรม  ตั้งอยู่บนเขาปักซัว ในอำเภอเตี้ยเอี้ย โดยได้พยายามบูรณะปฎิสังขรณ์วัดและปฏิบัติศาสนกิจเผยแพร่คุณธรรมพร้อมกับ พยายามพัฒนาท้องถิ่นและสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือราษฎรให้มีความเป็นอยู่ดี ขึ้นเป็นลำดับในทุกวิถีทางด้วยความวิริยะอุตสาหะตลอดเวลาทำให้มีผู้เคารพ นับถือเลื่อมใสศรัทธาถวายตัวเป็นสานุศิษย์เป็นจำนวนมาก กิจกรรมการกุศลสงเคราะห์ที่สำคัญอย่างยิ่งอย่างหนึ่งคือ  ได้เกิดโรคระบาดขึ้นผู้คนล้มตายดุจใบไม้ร่วงเป็นจำนวนมาก หลวงปู่ไต้ฮงพร้อมด้วยสานุศิษย์และผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ได้ออกมาช่วยเหลือบรรเทาทุกข์     โดยการเก็บศพผู้ยากไร้อนาถาไปฝัง และแจกจ่าย ยารักษาโรคแก่ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยจากโรคภัยครั้งนี้อย่างเต็มความสามารถโดยไม่ รังเกียจและไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากตลอดเวลาจนกระทั่งวิกฤตการณ์ผ่านพ้นไป

            ต่อมาท่านได้เชิญชวนสานุศิษย์และผู้มีใจศรัทธาทั้งหลายให้อุทิศกำลังกาย กำลังทรัพย์ ช่วยกันสร้างสะพานหิน กว้าง 5 วา ยาวประมาณ 300 วา ข้ามแม่น้ำมหาภัย เหลียงเจียง ในตำบลฮั่วเพ้ง ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวกรากก่ออันตรายสร้างความความสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ราษฎรผู้สัญจรข้ามฟากไปมาอยู่เนืองนิจเป็นผล สำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์เพราะไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะสามารถสร้างสะพานนี้ได้ และในระหว่างการก่อสร้างสะพานนั้นมีเสียงร่ำลือกันว่า น้ำในแม่น้ำเหลียงเจียงที่มีการขึ้นลงไหลเชี่ยวกรากทุกวันทั้งเช้าและเย็นก็หยุดขึ้นลงติดต่อกันถึง 7 วัน ทำให้การสร้างฐานรากส่วนสำคัญของสะพานเป็นไปได้โดยสะดวกและสะพานฮั่วเพ้ง นี้ยังมั่นคงถาวรยั่งยืนอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

            การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ยากไร้ตลอดจนผู้เจ็บไข้ได้ป่วยและล้มตายจากโรค ระบาดและภัยพิบัติต่างๆ และการสร้างสะพานฮั่วเพ้งของหลวงปู่ไต้ฮง เป็นที่ประจักษ์เลื่องลือสรรเสริญกระฉ่อนไปทั่วแผ่นดิน ชาวจีนต่างก็พากันให้ความเคารพนับถืออย่างสูง และเทิดทูนยกย่องให้เป็นมหาเถระอริยสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรมวิเศษยิ่งองค์หนึ่ง

       ดังนั้น เมื่อหลวงปู่ไต้ฮงมรณภาพ ชาวบ้านชาวเมืองผู้มีความเคารพเลื่อมใส จึงได้พร้อมใจกันสร้างกุศลศาลาเป็นอนุสรณ์ประดิษฐาน พระรูปจำลองของหลวงปู่ไต้ฮงไว้เพื่อกราบไหว้ ระลึกถึงเมตตาธรรมคุณงามความดีของท่าน และให้ชื่อกุศลศาลาอนุสรณ์นี้ว่า ป่อเต็กตึ้ง มีความหมายในภาษาไทยว่า “คุณานุสรณ์” นอก จากนี้ยังมีผู้ที่เคารพเลื่อมใสได้พากันบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศถวายแก่หลวงปู่ไต้ฮง ซึ่งการกระทำดังกล่าวยังส่งผลให้เกิดความเจริญสันติสุขสิริมงคลนานาประการ แก่ผู้เจริญรอยตาม จึงทำให้มีการสร้างกุศลสถาน “ป่อเต็กตึ๊ง” ขึ้นอย่างแพร่หลายในทั่วทุกพื้นที่และมากขึ้นเป็นลำดับซึ่งขณะนี้ในแผ่นดินจีนมีไม่น้อยกว่า 100 แห่ง ต่อมาชาวจีนโพ้นทะเลผู้เคารพศรัทธาก็พากันจัดตั้งกุศลสถาน “ป่อเต็กตึ๊ง” ขึ้นในประเทศไทย

            กล่าวคือในเมื่อปี พ. ศ. 2439 ประมาน 100 ปีล่วงมาแล้ว ชาวจีนเตี้ยเอี้ยชื่อ เบ๊จุ่นเซียง หรือ เบ๊ยุ่น ได้อัญเชิญรูปจำลองหลวงปู่ไต้ฮงมาจากตำบลฮั่วเพ้งอำเภอเตี้ยเอี้ย จังหวัดแต้จิ๋ว มลฑลกวางตุ้ง   ประเทศจีน เพื่อสักการะบูชาและประดิษฐานไว้ที่บ้านย่านวัดเลียบ ประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธาทราบข่าวก็พากันหลั่งไหลไปสักการะบูชามากขึ้นทุกวัน จนต้องย้ายไปประดิษฐานไว้ข้างสมาคมกว๋องสิว ถนนเจริญกรุง

            ต่อมาพ่อค้าคหบดีผู้มีกุศลจิต 12 ท่าน โดยมีพระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง เตชะวาณิช) เป็นหัวหน้าได้เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์แห่งกุศลเจตนาของผู้เลื่อมใส ศรัทธาหลวงปู่ไต้ฮงจึงได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินสร้างศาลาประดิษฐานรูปจำลองของหลวงปู่ไว้ให้เป็นกุศลสถานป่อเต็กตึ๊งถาวร ณ ถนนพลับพลาไชย ข้างวัดคณิกาผล กรุงเทพมหานคร

            ปี พ.ศ. 2453 การสร้างอาคารป่อเต็กตึ๊งได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีเหนือทางเข้าตัวตึกด้านหน้าได้สลักภาษาจีนว่า ป่อเต็กตึ๊ง บนแผ่นศิลาขนาดใหญ่ ส่วนคูหาด้านหลังมีอักษรจีนว่า “ฮุกกวงโพ่วเจี่ย” มีความหมายว่า “แสงธรรมส่องทั่วหล้า”ภาย ในตัวตึกได้ประดิษฐานรูปจำลองหลวงปู่ไต้ฮงไว้สักการะบูชา และใช้สถานที่นี้เป็นสำนักงานดำเนินงานสาธารณกุศล เช่น เก็บศพไม่มีญาติ แจกยารักษาโรค ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นต้น

           ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2463 ได้มีประกาศกฏเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ กฏหมายลักษณะปกครองท้องที่พระพุทธศักราช 2457 โดยผลของกฏหมายฉบับนี้ พระอนุวัตน์ราชนิยมจึงได้โอนกรรมสิทธิที่ดินสร้างศาลาป่อเต็กตึ๊งนี้ให้กับ กรมพระนครบาล เมื่อวันที่15 ธันวาคม 2465 การดำเนินกิจกรรมสาธารณกุศลที่ศาลามูลนิธิป่อเต็กตึ๊งยังเป็นไปตามปรกติตลอด มา ล่วงมาถึงเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2479  เนื่องจากพ่อค้าคหบดีที่เป็นกรรมการในการดำเนินงานกุศล ได้ถึงแก่กรรมไปหลายท่าน กรรมการที่เหลืออยู่พร้อมด้วยบุตรหลานของกรรมการเก่าที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ได้ประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อก่อตั้งมูลนิธิขึ้น ในการนี้ได้มีประกาศทางหนังสือพิมพ์จีนเชิญชวนนายกสมาคมต่างๆ เข้าร่วมพิจารณาคัดเลือกผู้ที่ มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ารับผิดชอบบริหารงานสาธารณกุศลในมูลนิธิสืบต่อไป จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2480 ได้จดทะเบียนก่อตั้งเป็นมูลนิธิชื่อว่า   “มูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง” หมายเลขทะเบียน 11 มีเงินทุน 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน) และมีกรรมการ 16 ท่าน สำนักงานตั้งอยู่ที่ศาลาป่อเต็กตึ๊งเช่นเดิม มูลนิธิฯ มีวัตถุประสงค์ดังนี้คือ

- ช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย อุทกภัย วาตภัย และภัยอื่นๆ โดยทั่วไป

- จัดตั้งโรงพยาบาลใช้ชื่อว่า  “โรงพยาบาลหัวเฉียว”  รักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้ได้ป่วยทุกสาขาโรค

- จัดตั้งโรงเรียนและสถานศึกษา (มหาวิทยาลัย)

- ช่วยเหลือจัดการศพทั่วไป และจัดตั้งสุสานเพื่อการนี้ด้วย

- ส่งเสริมและบำรุงกิจกรรมด้านศาสนา วรรณกรรม ศิลปะ และ วิทยาศาสตร์

- บำเพ็ญการกุศลโดยทั่วไป หรือตามมติคณะกรรมการ


            ปัจจุบันนี้ การบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์ต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ได้ขยายขอบข่ายงานไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ทำให้มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเป็นองค์กรการกุศล สังคมสงเคราะห์ขนาดใหญ่มีผลงานการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เอื้ออำนวยประโยชน์ สุขแก่เพื่อนมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยากจากภัยพิบัติต่างๆ อย่างครบวงจรชีวิต คือ เกิด แก่ เจ็บ และการตาย โดยไม่จำกัดชั้น วรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา เพศ และวัย เป็นที่ประจักษ์ชื่นชมจากจากผู้มีกุศลจิตทั้งหลายทั้งในและนอกประเทศโดย เฉพาะอย่างยิ่ง นอกจากจะมีโรงพยาบาลหัวเฉียวซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไปที่ทันสมัยตามมาตรฐาน ขนาดใหญ่ สูง 22 ชั้น ที่สามารถช่วยเหลือรักษาพยาบาลผู้ป่วยทุกสาขาโรค  เพื่อ ให้การสงเคราะห์ส่งเสริมการศึกษาอันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของคนในชาติ ให้มีประสิทธิผลและกว้างขวางมากขึ้น มูลนิธิฯ ได้ปรับปรุงขยายวิทยาลัยหัวเฉียวให้เป็นมหาวิทยาลัย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อให้ว่า “มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ”

             จากผลงานดังกล่าว คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ประกาศยกย่อง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ให้เป็นหน่วยงานดีเด่นของชาติสาขาพัฒนาสังคม(ด้านสังคมสงเคราะห์)ประจำปี พุทธศักราช 2535  โดย ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ อดีตประธานมูลนิธิฯ ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานเกียรติบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2536