Pin It

     วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม 2564 เวลา 14.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดําเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปทรงเปิดงานฉลอง “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง 110 ปี ความดีที่ยั่งยืน” และทรงเปิด “หอประวัติมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” ณ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ถนนพลับพลาไชย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร โดยมีนายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย คณะกรรมการมูลนิธิฯ แขกผู้มีเกียรติ และประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ
 
   เมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาถึง ทรงสักการะหลวงปู่ไต้ฮง ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง ทรงคม จากนั้นเสด็จเข้าพลับพลาพิธี ประทับพระราชอาสน์ โดยมีนางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิฯ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และกราบบังคมทูลรายงานประวัติความเป็นมาของมูลนิธิฯ และหอประวัติของมูลนิธิฯ พร้อมกราบทูลเชิญทอดพระเนตรวิดีทัศน์ “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง 110 ปี ความดีที่ยั่งยืน” จากนั้น นายสุภนันท์ ฤทธิ์มนตรี กราบบังคมทูลเบิกผู้บริจาคเงินสมทบทุนก่อสร้างศาลเจ้าไต้ฮงกง (สาทร) รายใหญ่ เข้ารับพระราชทานของที่ระลึก
ต่อมาเสด็จฯ ไปยังต้นไม้แห่งความดี ทรงลงพระนามาภิไธยในหยดน้ำแห่งความดี เพื่อทรงเป็นต้นแบบและเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนร่วมกันส่งต่อการทำความดีเพื่อสร้างสังคม “ความดีที่ยั่งยืน” ผ่าน www.ต้นไม้แห่งความดี.com และ ทอดพระเนตรนิทรรศการ “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง 110 ปี ความดีที่ยั่งยืน” ที่นำเสนอภารกิจมูลนิธิฯ ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา และข้อมูลที่สุดของมูลนิธิฯ คิดเป็นมูลค่าการดำเนินงานไม่ต่ำกว่า 2,600 ล้านบาท
 
  จากนั้น เสด็จ ฯ ไปยังหอประวัติมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายหอประวัติมูลนิธิฯ และทอดพระเนตรกิจกรรมภายในหอประวัติฯ ซึ่งได้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของมูลนิธิฯ นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2437 ที่มีชาวจีนโพ้นทะเล ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังที่จะมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารบนผืนแผ่นดินไทย ความศรัทธาที่มีต่อองค์หลวงปู่ไต้ฮง (ไต้ฮงกง) ตลอดจนการก่อกำเนิด“มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” องค์กรสาธารณกุศลเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยที่ให้ความช่วยเหลืออย่างครบวงจรชีวิต ภายใต้ปณิธาน “ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต” หอประวัติแห่งนี้นับเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านประวัติศาสตร์ และรวบรวมเรื่องราวความดีที่ไม่มีที่สิ้นสุด ที่พร้อมจะส่งต่อพลังศรัทธา และแรงบันดาลใจแก่เยาวชนรุ่นต่อไปในการสานต่อ หยั่งราก แผ่กิ่งก้านความดีแก่สังคมไทยต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยแบ่งห้องจัดแสดงนิทรรศการออกเป็น 7 ห้อง ได้แก่
.
ห้องที่ 1 นำศรัทธาข้ามสมุทร : จัดแสดงภาพยนตร์ที่จำลองเหตุการณ์ในอดีตของชาวจีนที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังประเทศไทย และการอัญเชิญรูปจำลองของหลวงปู่ไต้ฮงมายังประเทศไทยของนายเบ๊ยุ่น
ห้องที่ 2 พลังศรัทธาไต้ฮงกง : นิทรรศการบอกเล่าประวัติ ปณิธาน และจริยวัตรอันงดงามของหลวงปู่ไต้ฮง ผ่านภาพวาดบนผืนผ้าและเทคโนโลยีโฮโลแกรม (Holograms)
ห้องที่ 3 สู่จุดเริ่มและรากฐาน : แสดงเรื่องราวความเป็นมาของมูลนิธิฯ ตั้งแต่ยุคแรก ที่เริ่มต้นจากการกำเนิดของคณะเก็บศพไต้ฮงกง จนพัฒนามาเป็นมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง การช่วยเหลือชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย การเก็บศพไร้ญาติ และอื่นๆ
ห้องที่ 4 ความดี ร่วมใจ ฝ่าภัยสงคราม : การแสดงภารกิจของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้ช่วยเหลือสังคมทั้งการเก็บศพ ตั้งโรงทาน และการก่อตั้งสถานผดุงครรภ์
ห้องที่ 5 เติบโต สนองคุณ : แสดงถึงมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในยุคปัจจุบัน และหน่วยงานในเครือ ประกอบด้วยโรงพยาบาลหัวเฉียว คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่มีการดำเนินงานที่ยึดมั่นในการสนองคุณราชวงศ์จักรี และผืนแผ่นดินไทย
ห้องที่ 6 อาสา จิตกุศล : แสดงงานบรรเทาสาธารณภัยของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง รถพยาบาลจำลอง การสาธิตการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจ (CPR) และข้อมูลสุสานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
ห้องที่ 7 “เสียง” สนองคุณ : เรื่องราวของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร Showcase และ Hall of Fame เครื่องแบบบอกภารกิจของเจ้าหน้าที่กู้ภัย, กู้ชีพ, น.เขต (เจ้าหน้าที่สนับสนุนงานนิติเวช) และ อาสาสมัคร รวมทั้งประติมากรรม “เสียง” สัญลักษณ์ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง หมายถึง การทำบุญกุศล สานต่อความดี พื่อสนองคุณแผ่นดิน
   ต่อจากนั้น ทรงพระอักษรพู่กันจีน พระราชทาน 4 ตัวอักษร ประกอบด้วยคำว่า “ป่อ เต็ก เซี่ยง ตึ๊ง” ซึ่งมีความหมายว่า “ตอบแทนบุญคุณด้วยการกระทำความดี” จากนั้นเสด็จฯ ไปยังบริเวณฉายพระฉายาลักษณ์ ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับผู้บริหารมูลนิธิฯ และผู้รับพระราชทานของที่ระลึก ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ

Follow Us

Most Read

  • Week

  • Month

  • All