วันนี้ (27 พฤษภาคม พ.ศ. 2567) เวลา 10.00 น. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย คุณวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการ เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดงานและรายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างศาลเจ้าไต้ฮงกง (สาทร) พร้อมด้วย คุณศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ ร่วมเป็นประธานในพิธีแถลงผลการดำเนินงาน ประจำปี พ.ศ. 2566 และเป็นหมายการดำเนินงานของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในปี พ.ศ. 2567 โดยมี คุณสุทัศน์ เตชะวิบูลย์ รองประธานกรรมการ พร้อมด้วย คุณวิชิต ชินวงศ์วรกุล รองประธานกรรมการ คุณจินดา บุญลาภทวีโชค กรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการ และผู้ช่วยกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้มีจิตศรัทธา ผู้มีอุปการคุณ ผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ร่วมในพิธี
.
คุณศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เผยว่า ผลการดำเนินงาน ปี 2566 ของมูลนิธิฯ ได้ใช้งบประมาณในการช่วยเหลือทั้งสิ้น 501,469,876.26 บาท (ห้าร้อยหนึ่งล้านสี่แสนหกหมื่นเก้าพันแปดร้อยเจ็ดสิบหกบาทยี่สิบหกสตางค์) แบ่งเป็นการช่วยเหลือ 3 ด้าน ดังนี้
.
ด้านการ “ #ช่วยชีวิต ” มูลนิธิฯมีหน่วยบรรเทาสาธารณภัยและฌาปนกิจสุสาน ในงานกู้ชีพ กู้ภัย สนับสนุนงานนิติเวช และงานฌาปณกิจ บริการช่วยเหลือประชาชน รับแจ้งเหตุผ่านสายด่วนและแอปพลิเคชัน ป่อเต็กตึ๊ง 1418 มีอาสาสมัครไม่ต่ำกว่า 4,000 คน พร้อมให้การช่วยเหลือจากเหตุต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงการช่วยเหลือในต่างประเทศ นอกจากนี้ มีแผนกฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการกู้ชีพและบรรเทาสาธารณภัย การให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินแก่หน่วยงาน ต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน รวมถึงมีภารกิจช่วยชีวิตผ่านงานสังคมสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัยต่างๆ อาทิ เหตุโรงเก็บดอกไม้ไฟระเบิดจังหวัดนราธิวาส เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก รวมงบประมาณด้านนี้กว่า 123 ล้านบาท มีผู้ได้รับการสงเคราะห์จำนวน 503,289 คน
.
ด้านการ “ #รักษาชีวิต ” มูลนิธิฯ มีหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชนให้บริการตรวจรักษาประชาชนทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงถิ่นทุรกันดาร และยังสนับสนุนห้องผ่าตัด อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ขาดแคลน รวมถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยรายได้น้อย ผู้ป่วยโรคไต ทั้งยังร่วมกับหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ โรงพยาบาลหัวเฉียว คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว ให้บริการโดยศาสตร์การแพทย์แผนจีนแขนงต่างๆ อย่างครบวงจร รวมงบประมาณด้านนี้กว่า 119 ล้านบาท
.
ด้านการ “ #สร้างชีวิต ” มูลนิธิฯได้ดำเนินโครงการต่างๆ กว่า 10 โครงการ ครอบคลุมด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ และการดำรงชีพ เพื่อสนับสนุนให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้เปิดโครงการคาราวานปันสุขให้ชุมชน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชนในชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ 50 เขตกรุงเทพฯ และยังได้ร่วมกับภาครัฐ ในโครงการแก้ปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน ช่วยเหลือครัวเรือนยากจน, โครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรี ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่สตรีที่มีรายได้น้อยที่ต้องดูแลคนในครอบครัว แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือด้อยโอกาสทางสังคม นอกจากนี้ ยังมีโครงการ“เล่นสนุกกับภาษาจีนกันเถอะ” ร่วมกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เปิดสอนภาษาจีนให้เยาวชนที่สนใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมงบประมาณด้านการสร้างชีวิต และการดำเนินงานอื่นๆ ของมูลนิธิฯ กว่า 258 ล้านบาท มีผู้ได้รับการสงเคราะห์จำนวน 613,653 คน
.
และในส่วนเป้าหมายการดำเนินงานของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในปี 2567 นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กล่าวเน้นย้ำ จุดยืนของมูลนิธิฯ ที่หนักแน่น โดย มูลนิธิฯ จะยังคงนโยบายเดินหน้าพัฒนาการปฏิบัติภารกิจบรรเทาทุกข์ บำ
รุงสุขแก่ทุกชีวิตที่ตกทุกข์ได้ยาก รวมถึงมุ่งมั่นพัฒนาและขยายขอบข่ายการดำเนินงาน เพื่อให้เป็นองค์กรสาธารณกุศล ช่วยเหลือสังคมอย่างครบวงจรชีวิต ตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ภายใต้ปณิธาน “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต” ได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
จากนั้น คุณวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างศาลเจ้าไต้ฮงกง (สาทร) ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ และนับเป็นประวัติศาสตร์แห่งการรวมพลังศรัทธาของหลวงปู่ไต้ฮง สร้างพุทธสถาน ประดิษฐานองค์ไต้ฮงกงหินหยกขาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย รวมถึงองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม และพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ (ตี่จั่งอ้วง) ขึ้นประดิษฐานภายในศาลเจ้าพร้อมกัน นอกจากนี้ ภายในศาลเจ้าจะยังเป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้าจีนอีกหลายองค์ เพื่อให้สาธุชนได้สักการบูชา ปัจจุบันการดำเนินก่อสร้างมีความคืบหน้าแล้วเสร็จทั้งในด้านงานก่อสร้างหลักตัวอาคาร งานโครงสร้างอาคาร งานสถาปัตยกรรม และงานระบบวิศวกรรมมากกว่า 90%
.
ศาลเจ้าไต้ฮงกง (สาทร) เป็นการออกแบบร่วมกันโดยสถาปนิกชาวจีนและชาวไทย ให้เป็นศาลเจ้าแห่งใหม่กลางเมืองหลวง ด้วยสถาปัตยกรรมจีนตอนใต้ฉบับแต้จิ๋ว ที่กว้างขวางโอ่โถง วิจิตรงดงามในทุกรายละเอียด โดยแบ่งเป็นอาคารศาลเจ้าสูง 2 ชั้น พร้อมการจัดสรรพื้นที่ และสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ที่จอดรถใต้ดินที่สามารถขึ้นสู่อาคารศาลเจ้าทั้งทางบันได และลิฟต์ เพื่อรองรับสาธุชนทุกเพศทุกวัย การตกแต่งภายใน เป็นการรวบรวมงานศิลปะ ประติมากรรมหินแกะสลัก ที่สร้างสรรค์โดยศิลปินที่มีชื่อเสียงในจีนมาจัดแสดงไว้ภายในศาลเจ้า ซึ่งมีทั้งเรื่องราวพุทธประวัติ ประวัติของหลวงปู่ไต้ฮง (ไต้ฮงกง) และเทพเจ้าต่างๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้สาธุชนได้เข้าสักการะก่อนเทศกาลตรุษจีนประจำปี พ.ศ. 2568